2551/06/11

ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของการส่งลูกไปเรียนกวดวิชา


ผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ไทยกันไปเรียบร้อยแล้ว หลายท่านคงจะสนุกสนานเบิกบานกับการพักผ่อนกันถ้วนหน้า เรียกว่าไปชาร์จแบตเตอรี่กันมา ก็ถึงเวลากลับมาเต็มที่กับภารกิจที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าอีกครา

สำหรับเด็กๆ ก็ยังอยู่ในช่วงปิดเทอม ก็มีภารกิจได้หยุดพักผ่อนเหมือนกัน แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับการกวดวิชาอย่างหนักหน่วง ก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรกับช่วงวันหยุดยาวมากนัก เหมือนอย่างน้องแก๊บ

“วันหยุดสงกรานต์ก็หยุดแค่ 14-15 ครับ วันที่ 16 ก็ต้องเรียนพิเศษต่อ”

เรียกว่าตั้งแต่ปิดเทอมน้องแก๊บก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียนพิเศษพร้อมๆ กับเพื่อนอีกจำนวนมาก

ดิฉันสนใจประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเรียนกวดวิชาของเด็กยุคนี้ ที่ดูเหมือนว่าค่านิยมของคนเป็นพ่อแม่จะเปลี่ยนไป...!!

ส่วนใหญ่การเรียนกวดวิชาช่วงปิดเทอม เนื่องเพราะพ่อแม่บางคนไม่มีเวลาดูแลลูก ก็เลยต้องให้สถาบันกวดวิชาเป็นสถานรับดูแลลูกชั่วคราว เพราะครั้นจะให้ลูกปิดเทอมอยู่บ้านเฉยๆ ก็กลัวว่าจะไม่เกิดประโยชน์อันใดไฉนเลยสู้ให้ลูกเรียนพิเศษน่าจะดีกว่า ลูกจะได้ไม่ลืมวิชาการด้วย

แต่ประเด็นที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการกวดวิชาที่พ่อแม่จำนวนมากปรารถนาอยากให้ลูกได้เรียนพิเศษนั้น ก็คือ ค่านิยมของคนเป็นพ่อแม่ในยุคนี้เปลี่ยนไปกว่าในอดีตโดนสิ้นเชิง

จะว่าไปก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นทศวรรษแล้วล่ะ เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเหมือนในยุคนี้

ในอดีตการกวดวิชาของเด็กนักเรียนจะเป็นเพราะลูกเรียนไม่ทันเพื่อน พ่อแม่หรือคุณครูอยากช่วยให้เด็กเรียนทัน ก็เลยต้องให้มีการไปเรียนเสริม

แต่ปัจจุบันนี้ การกวดวิชากลายเป็นค่านิยมใหม่ของพ่อแม่ ที่ต้องการให้ลูกเรียนเหนือกว่าระดับชั้นที่เรียนในห้องเรียนปกติ ประมาณว่าต้องการให้ลูกเรียนล้ำหน้ากว่าเพื่อนในห้องเข้าไว้ จะได้กลายเป็นเด็กเก่ง เพราะเวลาสอบก็จะได้คะแนนดีกว่าเพื่อน

นี่ยังไม่นับรวมเด็กๆ อีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในวังวนของการเรียนพิเศษกันอย่างบ้าเลือด

ดิฉันเคยพบเด็กที่ต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา แทบจะไม่รู้จักวันหยุด ซึ่งเธอเป็นเด็กที่เรียนเก่งดังใจพ่อแม่ทุกอย่าง ซึ่งก็เกิดข้อกังขาว่าที่สุดแล้ว เธอเก่งเพราะตัวเองหรือเพราะเธอตะลุยเรียนพิเศษกันแน่

ดิฉันไม่ได้แอนตี้สถาบันกวดวิชา หรือไม่ได้ต้องการต่อว่าพ่อแม่ที่พาลูกไปเรียนกวดวิชา เพราะดิฉันเองก็เคยส่งลูกไปเรียนกวดวิชาเช่นกัน เพียงแต่เป้าหมายในการกวดวิชาก็ขึ้นอยู่กับการร้องขอของลูก

เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความประหลาดใจไม่น้อย กับคำตอบของเด็กคนหนึ่งที่ร้องขอพ่อแม่เรียนพิเศษ เพราะเพื่อนในห้องเรียนกันหมดทุกคน ถ้าตัวเองไม่ได้เรียนก็จะทำให้เรียนตามเพื่อนไม่ทัน

คำถามที่ตามมาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาในบ้านเรา?

ถ้าเด็กที่เรียนตามระบบและไม่ได้กวดวิชา ก็อาจกลายเป็นเด็กเรียนอ่อนในชั้นเรียน เพราะเด็กที่เรียนเก่ง ล้วนแล้วแต่ต้องออกไปพึ่งสถาบันกวดวิชา ที่บางแห่งถึงขั้นต้องจองคิวกันเป็นปีเพื่อจะได้ไปเรียนพิเศษที่นั้นๆ

ดิฉันเองก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าช่วงเวลาปิดเทอมไม่ได้ส่งลูกไปเรียนกวดวิชาจะเป็นไรไหม ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเกิดความคิดเหล่านี้ เพราะคิดว่าเขาเรียนมาตลอดทั้งปี ก็ควรจะมีเวลาได้พักผ่อนบ้าง

จริงอยู่ว่าครอบครัวของเราพ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แต่เวลาปิดเทอมดิฉันก็พาลูกไปที่ทำงานด้วย สรรหากิจกรรมให้ทำภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวด้วยว่า ลักษณะงานของพ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็ได้เรียนรู้ร่วมกัน

แต่สิ่งเหล่านี้กำลังถูกท้าทายต่อความคิดที่ว่าทำไมไม่พาลูกไปเรียนพิเศษ ช่วงปิดเทอมสองเดือนอาจทำให้ลูกลืมเรื่องวิชาการ และเมื่อเปิดเทอมก็อาจเรียนตามเพื่อนไม่ทัน

คำถามที่ตามมาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาในบ้านเรา?


เด็กๆ ไม่สามารถเรียนรู้เรื่องวิชาการได้เพียงพอภายในห้องเรียนกระนั้นหรือ...!!!


ผลพวงของค่านิยมการส่งลูกไปเรียนกวดวิชา ทำให้การเรียนการสอนภายในห้องเป็นไปแบบธรรมดา แล้วให้พ่อแม่ส่งไปเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน ใครเรียนพิเศษกับคุณครูท่านใด เวลาสอบกับคุณครูท่านนั้นก็สามารถทำคะแนนได้ดี สุดท้ายพ่อแม่ก็ต้องส่งให้ลูกเรียนพิเศษกันทุกคน


ดิฉันหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนถึง เพราะเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดิฉันเคยพูดคุยกับเพื่อนพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน บางคนก็ส่งลูกเรียนพิเศษตั้งแต่เล็กจนกลายเป็นวิถีชีวิต เพราะไม่มีชีวิตปิดเทอม ซึ่งก็ได้ผลเพราะเป็นเด็กที่เรียนเก่งทีเดียวเชียว สามารถสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังได้ดังใจปรารถนา สมใจพ่อ แม่ในขณะที่บางคนที่ลูกอยู่ช่วงชีวิตวัยอนุบาลก็ไม่อยากให้ลูกเรียนกวดวิชาเพราะกลัวลูกจะหนักเกินไป อยากให้ลูกมีความสุขในชีวิตวัยเด็ก และไม่เคร่งเครียดจนเกินไป แต่ท้ายสุด เธอก็ไม่สามารถต้านกระแสการเรียนพิเศษไปได้ เพราะเพื่อนๆ ในห้องเรียนก็เรียนกันหมด หนำซ้ำ เธอเชื่อว่าถ้าไม่กวดวิชาไม่มีทางสอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงในวัยประถมได้อย่างแน่นอน


ส่วนพ่อแม่จำนวนมากที่มีลูกสอบเข้าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต่างก็ยอมรับและเชื่อตรงกันว่า ที่ลูกสามารถสอบเข้าโรงเรียนต่างๆ ได้ ก็เพราะพาลูกไปกวดวิชา หากไม่กวดวิชาไม่มีทางสอบเข้าได้เด็ดขาด


ค่านิยมของการสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนต่างๆ ก็ยังคงผูกเข้ากับเรื่องการกวดวิชาของเด็กๆ อยู่ดี และยิ่งนับวัน จะยิ่งมากขึ้นๆ


คำถามที่ตามมาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาในบ้านเรา?


ดูเหมือนการศึกษาในบ้านเรากำลังจะไม่มีที่ยืนให้สำหรับเด็กเรียนตามเกณฑ์ปกติซะแล้วเด็กเก่งคือเด็กที่สามารถสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้เป็นผลสำเร็จ และเด็กที่สอบเข้าได้ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ผ่านการกวดวิชามาแล้วทั้งสิ้นแล้วส่วนใหญ่ของเด็กที่เรียนกวดวิชา ต่างก็เป็นเด็กชนชั้นกลางขึ้นไป ที่คนเป็นพ่อแม่ขวนขวายและพยายามส่งเสริมและผลักดันให้ลูกสอบให้ได้ในขณะที่ที่นั่งของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่พ่อแม่ต่างปรารถนาก็มีที่นั่งจำนวนจำกัดคำถามที่ตามมาก็คือ การศึกษาในบ้านเราไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มชนชั้นปกติ หรือกลุ่มชนชั้นล่างเลยมิใช่หรือ ...!!


แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000043245


คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับ บทความนี้

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ : สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


“สมเด็จย่า” แม่ฟ้าหลวงของปวงชน


ข้าแต่ "แม่ฟ้าหลวง" พระคือดวงประทีปใส

เสริมประทีปพระจอมไทย ให้สว่างกระจ่างกระจาย

แดนดินทุกถิ่นฐาน บ้านน้อยใหญ่ไทยทั้งหลาย

ป่าเขาทะเลพราย พราวด้วยแสงพระเมตตา

หัวใจไทยทั้งชาติ แทบทุกบาทวางบูชา

แทนรูปเทียนผกา ปากทุกปากถวายชัย

ขอสมเด็จพระแม่เจ้า เนิ่นเนาสุขทุกสมัย

สถิตด้วยพระลูกไท เย็นเศียรเกล้าเหล่าพสกเทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า

คณะผู้จัดทำ Blog Justice

พระราชสมภพ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า "สังวาลย์" ทรงพระราชสมภพในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ในครอบครัวของพระชนก ชื่อ "ชู" พระชนนีชื่อ "คำ" ซึ่งเป็นครอบครัวสามัญชน อาชีพช่างทอง ตั้งนิวาสสถานอยู่ที่ธนบุรีละแวกวัดอนงคาราม ภายหลังพระญา ติได้จดทะเบียนใช้นามสกุลว่า "ชูกระมล
พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติเป็น พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท และพระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องสุขภาพของประชาชนตลอดมา ดังเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านได้มีพระมหากรุณาธิคุณก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาซึ่งมีแพทย์ ทันต-แพทย์ พยาบาล เภสัช และประชาชนในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ร่วม เป็นอาสาสมัครในการให้บริการรักษาประชาชนที่ มีปัญหาป่วยไข้และอยู่ห่างไกลสถานพยาบาล ตั้งแต่ ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน
ในปี 2529 มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสานงานกับ กระทรวงสา-ธารณสุข คณะทันตแพทย์ศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ทันตสาธารณสุข เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสวัน พระราชสมภพ วันที่ 21 ตุลาคม 2529 เป็นครั้งแรกโดยระดมทันตบุคคลากรและอาสาสมัครจากภาค รัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศออกไปให้บริการตรวจรักษาฟันโดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนใน ถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม
นอกจากนี้พระองค์ยังให้ความสำคัญใน วิชาชีพพยาบาล ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงให้ความสำคัญ ในวิชาชีพพยาบาลทัดเทียมกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและป้องกันโรค และเป็นวิชาชีพที่สมควรได้รับการยกย่อง พระองค์ทรงจัดตั้ง สภาการพยาบาลซึ่ง เป็นองค์กรควบคุมคุณภาพวิชาชีพพยาบาล ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การบริการ การวิจัย และบุคลากรของวิชาชีพพยาบาล ตลอดจนเป็นที่ปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะทางการพยาบาลต่อรัฐบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง รวมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการศึกษา การวิจัย การเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้า ความสามัคคี จริยธรรมและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ปัจจุบันสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสภาพยาบาล นานาชาติและได้พัฒนาวิชาชีพด้านการนำระบบสารสนเทศ (ICNP : International Classification Nursing Practice) เข้ามาปรับปรุงการให้บริการพยาบาลซึ่งจะส่งผลการพัฒนาการจัดการศึกษา และการให้บริการพยาบาลของพยาบาลสถานศึกษาและสถานพยาบาลในอนาคต
แหล่งที่มาของเนื้อหาทั้งหมดนี้ : http://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/Datebook/Grandmother/Grandmother.htm

สมาชิก