2551/09/04

อำนาจ "หมัก" ล้นฟ้า! สั่งเคลื่อนทหารได้เอง ดึงกม.สำคัญ20ฉบับอยู่ในมือ ไฟเขียวตร.จัดการคนทำผิดกม.( วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2551 )

ครม.ไฟเขียวให้ "สมัคร" ริบอำนาจรัฐมนตรีทั้งหมด พร้อมกฎหมายอีก 20 ฉบับ รวมทั้งกฎหมายอาญา-ประกาศเคลื่อนย้ายทหาร ตั้ง"อนุพงษ์"เป็น ผอ.กองแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอีกตำแหน่ง มทภ.1 ให้ตำรวจแจ้งความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ยันคนผิดต้องถูกดำเนินคดี
P { margin: 0px; }
ครม.ตั้ง "อนุพงษ์" ผอ.กอฉ.
เวลา 12.40 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้เป็นการประชุมตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ ครม.รับทราบและเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายใน 3 วัน โดยได้มีการออกประกาศเพิ่มเติม 2 ฉบับโดยความเห็นชอบของ ครม. คือ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) มี ผบ.ทบ.เป็นผู้อำนวยการ และมี ผบ.ตร. แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองผู้อำนวยการ แล้วมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ปลัด กทม. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็นและสถานการณ์ที่ผู้อำนวยการเห็นสมควรแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีเจ้ากรมยุทธการทหารบกเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คนที่ 1 เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 เป็นกรรมการและเลขานุการคนที่ 2 รวมทั้งข้าราชการตำรวจและข้าราชการพลเรือนตามผนวก เป็นเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 19 ตำแหน่ง
กำหนดหน้าที่ 9 ข้อ-ดูแลกทม.
พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า กอฉ.มีอำนาจ 1.เป็นหน่วยงานพิเศษปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในเขต กทม. 2.จัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์ประกอบภายใต้ กอฉ. โดยมีอำนาจในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม รวมทั้งระงับยับยั้งเหตุฉุกเฉิน ตามที่ได้รับมอบหมาย 3.ดำเนินการด้านการข่าวต่างๆ 4.ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง สำหรับการดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 5.จัดกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหาร ดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นเจ้าของสถานที่นั้นๆ ดำเนินการป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก 6.มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน 7.เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสารหรือจัดส่งเอกสารหรือดำเนินการอื่นใดตามแต่เห็นสมควร 8.แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามความจำเป็น 9.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีและ ครม.มอบหมาย โดยนายสมัคร ลงนามในคำสั่งวันที่ 4 กันยายน 2551ม็อบ2
"สมัคร"ริบอำนาจรมต.-กำกม.20ฉบับ
พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ครม. มีมติโอนอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายมาเป็นของนายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการแก้ไขปราบปราม ระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 20 ฉบับ ตามที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ คือ 1.พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 2.พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 3.พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 4.พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 6.พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2520 7.พ.ร.บ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 8.พ.ร.บ.ควบคุมอาหาร พ.ศ.2522 9.พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา โดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 10.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
นายกฯยึดอำนาจเคลื่อนย้ายทหาร
11.พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 12.พ.ร.บ.การสุรา พ.ศ.2493 13.พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 14.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 15.พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 16.พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 17.พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ.2499 18.ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม 19.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ 20.ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหารและการเตรียมพร้อม พ.ศ.2545 โดยนายสมัครลงนามในประกาศวันที่ 4 กันยายน 2551
นักกฎหมายมหาชนรายหนึ่งระบุว่า การที่ ครม.ได้ออกประกาศโอนอำนาจกฎหมาย 20 ฉบับของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมาอยู่ในมือนายสมัคร โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร และการเคลื่อนกำลังทหาร เท่ากับดึงอำนาจการสั่งเคลื่อนย้ายทหารจากผู้บัญชการแต่ละเหล่าทัพมาเป็นของนายกฯ จากเดิมที่หากนายสมัครในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเคลื่อนย้ายกำลังทหาร จะต้องได้รับคำแนะนำจาก ผบ.เหล่าทัพก่อน หรือการดึงอำนาจตามกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม จะทำให้นายกฯสามารถตรวจสอบและเพิกถอนมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้ เช่น มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน
"ถ้านายสมัครมีอำนาจในการสั่งเคลื่อนย้ายกำลังทหาร เท่ากับนายสมัครต้องการเล่นแรงกับ ผบ.เหล่าทัพและผู้ชุมนุม หรืออาจเป็นเพียงการขู่เท่านั้น" แหล่งข่าวระบุ
มทภ.1ชี้กอฉ.หาช่องกม.แก้ปัญหา
พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีการรวมเจ้าหน้าที่จากทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะด้านกฎหมาย เพราะการทำงานจะทำให้เกิดความรอบคอบถูกต้อง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนแค่ 3 คน ที่จะให้แก้ปัญหาคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะเน้นการไม่ใช้ความรุนแรง และทำอย่างไรเพื่อให้คนไทยกระทบกระทั่งกันน้อยที่สุด ต้องให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ร่วมกันแก้ปัญหา ต้องยอมรับว่า เงื่อนไขผ่านมา 3 เดือนแล้ว ต้องทำให้เงื่อนไขลดลง กฎหมายมีอยู่ และทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ผิดกฎหมาย แต่เมื่อไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมายจึงต้องหาวิธีการดำเนินการ
เมื่อถามว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เสนอให้นายกฯแต่งตั้งกองอำนวยการนี้ขึ้นมาใช่หรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นแนวคิดตั้งแต่แรกเพื่อให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมมากขึ้น ใช้กำลังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมกฎหมายมาดูว่าจะทำอย่างไรในการบังคับใช้กฎหมาย และเมื่อต้องใช้ความรุนแรงก็ต้องมาดูว่า เจ้าหน้าที่จะทำตามกฎหมายและกติกาที่มีอยู่อย่างไร
สรส.เสียงแตก-เลิกพบ"อนุพงษ์"
วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมหารือรวม 20 องค์กร อาทิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรองหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ ในเวลา 15.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ได้เชิญแกนนำสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มาร่วมหารือ เพื่อหาทางออกปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น หลังจากที่ สรส.ได้นัดหยุดงาน และขู่ตัดน้ำตัดไฟ สถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง แต่ภายหลังแกนนำ สรส.แจ้งขอยกเลิกการเข้าหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ โดยอ้างว่าไม่พร้อม เนื่องมาจากแกนนำมีความเห็นที่แตกต่างกัน
ทหารให้ตร.จัดการคนผิดกม.
พล.ท.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินว่า คณะกรรมการได้หารือเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานโดยยังยืนยันที่จะไม่ใช้ความรุนแรงแต่จะเน้นการเจรจาเป็นหลัก โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการที่จะแจ้งกับผู้ที่กระทำผิดข้อห้ามที่มีอยู่ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ทราบว่ามีการดำเนินการผิดกฎหมายข้อใดบ้าง
"ปัญหาขณะนี้ คือ การบังคับใช้กฎหมายที่กลุ่มพันธมิตรไม่ยอมรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่คงเลี่ยงปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ แต่อาจจะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ทุกคนทราบดีว่าเขาอยากให้เราใช้กำลังดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ เพราะหากเกิดการล้มตายแล้วจะทำอย่างไร จึงน่าจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้ ควรมีการพูดคุยกันและใช้แนวทางสันติ อยากให้ให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไขลงบ้าง และประชาชนต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ระวังแต่ผู้ชุมนุม ต้องรักษาสิทธิคนอื่นที่ไม่มาประท้วง แต่เกิดผลกระทบ ดังนั้น การใช้ พ.ร.ก.ต้องนึกถึงคนเหล่านั้นด้วย" พล.ท.ประยุทธ์กล่าว
ยันคนทำผิดต้องถูกดำเนินคดี
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีพอใจการทำงานของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า นายกฯเข้าใจและพูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ตลอด ทั้งนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความสุขุม เพื่อไม่ให้เกิดความุรนแรง อย่าสร้างความกดดันกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งขอระยะเวลาดำเนินการตามขั้นตอน ขอความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งพันธมิตร ฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่อยู่ตรงกลางต้องช่วยกัน เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
เมื่อถามว่า นายกฯมีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่นายกฯได้ทำหน้าที่และมอบอำนาจให้เราดูแล เราก็ทำ แต่ไม่ให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายคนไม่ปฏิบัติตาม เมื่อเอาไปใช้ก็เกิดปัญหา ซึ่งคนที่ทำผิดอยู่เวลานี้ ยังคงมีความผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจบอย่างไร คนที่มีความผิดต้องถูกดำเนินคดี
เมื่อถามว่า สถานการณ์ยังไม่มั่นคงเกรงว่าทหารจะก่อรัฐประหารอีกครั้ง พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่มี อย่าถามเรื่องปฏิวัติ ควรถามว่าบ้านเมืองจะไปอย่างไร เราจะช่วยกันอย่างไร ขณะนี้ทหารมีเพียงเตรียมกำลังอยู่ในหน่วยที่ตั้ง เพื่อดูแลสถานการณ์หากมีการเคลื่อนมวลชนมาปะทะกัน ทหารก็จะเข้าห้ามปราม ทั้งนี้ อย่าเอาเวลามาเป็นเงื่อนไข พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีกำหนดเวลา 3 เดือน ไม่ได้กำหนดว่าเสร็จเมื่อไหร่ หากไม่เสร็จก็ต่อไปอีกได้ แต่หากสถานการณ์เรียบร้อยอาจยกเลิกก่อนได้" พล.ท.ประยุทธ์กล่าว
เผย "อนุพงษ์" กังวลสถานการณ์ชุมนุม
ก่อนหน้าการประชุม พล.ท.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.กังวลว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยโดยเร็ว โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเจ้าหน้าที่ไม่ถูกมองว่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เรามีประวัติศาสตร์อยู่แล้วว่า การใช้ความรุนแรงไม่เกิดผลดี เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นคนไทยต่างมีเงื่อนไขของตัวเอง ถ้าไม่ลดราวาศอกกันและกัน ไม่ว่าจะมีกฎหมายใดก็แก้ไขไม่ได้ จะมุ่งไปสู่ความรุนแรง
"ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เราจะไม่เข้าไปรบกวนในกิจวัตรจำเป็นของประชาชน ข้อห้ามหลายประการเรายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างเด็ดขาด เช่น การชุมนุม หรือ มั่วสุมเกิน 5 คน ถ้าเป็นการดำเนินการตามชีวิตประจำวัน ไม่ได้ไปมั่วสุมทำให้เกิดการแตกแยก เราคงไม่ไปรบกวน ปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่ม ที่เกิดปัญหาเราพยายามแก้ปัญหาอยู่ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย หลังจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเราประชุมทั้งเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ว่าจะทำอย่างไร จึงเอามาตรการมาใช้ในเวลาที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่จะนำมาใช้ทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เกิดผลดี วิธีแก้ปัญหาคือ ไม่ใช้การไล่ปราบปราม ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำความเข้าใจกับประชาชนว่า อย่ามาชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก เราพยายามทำด้วยวิธีละมุนละม่อม" พล.ท.ประยุทธ์กล่าว
"อนุพงษ์"ให้ตร.เจรจาม็อบสกัดเข้ากรุง
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.) ในฐานะรองโฆษก ตร.กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตำรวจและฝ่ายทหารมีหน้าที่ร่วมกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะไม่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนอย่างเด็ดขาด โดยทหารได้จัดกำลังไว้ในที่ตั้งเพื่อคอยสนับสนุนการทำงานของตำรวจในกรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้น ส่วนการสั่งการนั้น ผบช.น.จะประสานงานโดยตรงกับแม่ทัพภาค ที่ 1 ตลอดเวลา
"จากการหารือร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ สรุปว่า ตำรวจยังมีหน้าที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในประเทศให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ตำรวจยังต้องมีบทบาทในเรื่องของการเจรจา และการใช้กลไกกฎหมาย โดยไม่ใช้กำลังในการปฏิบัติกับทุกฝ่าย" โฆษก ตร.กล่าว
อ้างอึดอัดใจถูกเป็นจำเลยสังคม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตำรวจเองทราบดีว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ปรากฏตัวให้เห็นอยู่ในทำเนียบแต่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการจับกุม ไม่กลัวหรือที่จะถูกว่าตำรวจเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า หากตำรวจเข้าไปจับกุมแล้วเกิดเหตุปะทะกันขึ้นจนเสียเลือดเนื้อ สถานการณ์ก็จะยิ่งปานปลาย อีกทั้งหมายจับมีอายุความถึง 20 ปี
"ตอนนี้ตำรวจถูกกดดันจากองค์กรต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ อุปกรณ์ที่ใช้ปราบจลาจลก็ไม่สามารถใช้ได้ตามหลักสากล จึงไม่สามารถรักษาสถานที่อย่างทำเนียบรัฐบาลเอาไว้ได้ ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมล้ำเส้น แต่ไม่รู้ว่าเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน ต่อไปคงต้องมาคุยกันว่าตำรวจสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เพื่อให้เกิดการยอมรับได้จากทุกฝ่าย และไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม" พล.ต.ต.สุรพลกล่าว และยอมรับว่าตำรวจอึดอัดใจที่ไม่สามารถทำตามขั้นตอนต่างๆ ได้ ถ้าทำแล้วเกิดการปะทะก็ตกเป็นจำเลยของสังคม จึงไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อกติกาของสังคมไม่ยอมรับ
วันเดียวกัน พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้านครบาล (ศปก.น.) มีบันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 กันยายน ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร.เพื่อโปรดทราบ ด้วยขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในเขตพื้นที่ กทม. ประกอบกับมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน เพื่อให้การประสานงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ จึงให้ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น. เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประสานงานกับกองทัพภาคที่ 1 และมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจประสานงานประจำกองทัพภาคที่ 1 ได้แก่ พ.ต.ท.ถาวร สมศักดิ์ รอง ผกก.กก.1 บก.จร. พ.ต.ท.ศักดิ์รินทร์ ตันติภัณฑรักษ์ รอง ผกก.ฝอ.1 บก.อก.บช.น. พ.ต.ท.ปรีดา สถาวร รอง ผกก.ฝอ.1 บก.อก.บช.น. พ.ต.ท.สรรค์พิสิฐ แย้มเกสร รอง ผกก.1 บก.ตปพ. และ พ.ต.ท.ชุมวร ชมะทัต รอง ผก.ฝอ.7 บก.อก.บช.น. ทั้งนี้ ให้นายตำรวจประสานงานดังกล่าวเข้าร่วมประชุมกองทัพภาคที่ 1 ทุกวัน เวลา 17.00 น. และเข้าร่วมประชุมสรุปสถานการณ์ในส่วนของ บช.น.ในแต่ละวัน

ขอขอบคุณ http://www.matichon.co.th
โดย นาย วีรพงศ์ พุทธสอน
ID: 5131601494
section: 2
school of law

ไม่มีความคิดเห็น: