2551/09/04

สื่อนอกตีข่าวไทย"กรุงแตก"

สื่อนอกตีข่าวไทย"กรุงแตก"เลือดไหลนอง !! เกิดโกลาหลถึงจุดสูงสุด ภาพลักษณ์ "ธุรกิจ-ลงทุน" ติดลบสื่อนอกตีข่าวไทยจ่อนองเลือด!! การเมืองอยู่ในภาวะโกลาหล ส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ในเชิงธุรกิจและการลงทุนหนักหนาสาหัส ถึงจุดสูงสุดมองว่าเป็นเมืองเอกแตกไปแล้ว
P { margin: 0px; }
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 3 กันยายนว่า สื่อมวลชนต่างประเทศยังคงจับตามองพัฒนาการทางการเมืองของไทย และเห็นสภาพตีบตันทางการเมืองมากขึ้นทุกขณะ เนื้อหาหลักในการนำเสนอของสื่อต่างประเทศก็คือ การประกาศภาวะฉุกเฉินดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่เอพีเห็นว่า การประกาศดังกล่าวถูกดูถูกจากกลุ่มพันธมิตรด้วยซ้ำไป
ขณะที่ ชอว์น คริสพิ่น แห่ง เอเชียไทม์ส ออนไลน์ (เอโอแอล) ระบุว่า สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าคือ เลือดที่จะไหลนองมากขึ้นและความสับสนทางการเมืองที่จะทวีคูณขึ้นเมื่อ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต)มีมติที่อาจส่งผลถึงขั้นยุบพรรคพลังประชาชนในข้อหาโกงการเลือกตั้ง

ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ในเชิงธุรกิจและการลงทุนหนักหนาสาหัสมากขึ้นตามลำดับ รายงานของสำนักข่าว บลูมเบิร์ก ระบุว่า เครดิตสวิส ธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลก แนะบรรดานักลงทุนที่เป็นลูกค้าของตนเองให้เลี่ยงการลงทุนในไทย พร้อมๆกับที่ คริสพิ่น อ้างแหล่งข่าวที่ในธนาคารเพื่อการลงทุนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียระบุว่า นักลงทุนเริ่มสอบถามเข้ามามากและถี่ขึ้นตามลำดับแล้วว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยจะส่งผลลบต่อทั้งภูมิภาคได้หรือไม่

"การเมืองไทยถูกมองอยู่ก่อนแล้วว่าอยู่ในภาวะโกลาหล เหตุการณ์ล่าสุดได้ยกระดับภาพที่ว่านั้นขึ้นถึงจุดสูงสุด ตอนนี้ไทยถูกมองว่าเป็นเมืองเอกแตกไปแล้ว" แหล่งข่าวระบุ ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักกันในระดับโลก 2 ฉบับ เสนอบทบรรณาธิการเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยในวันเดียวกันนี้ โดย ไฟแนนเชียล ไทม์ส เชื่อว่าทางลงของ สมัคร สุนทรเวช น่าจะเดินไปตามแนวทางรัฐสภาด้วยการยุบสภาหรือพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้ออกและ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ในขณะที่ ดิ อินดีเพนเดนท์ ตั้งคำถามไว้น่าสนใจอย่างยิ่งยวดว่า "หรือถึงเวลาต้องพึ่งพระบารมีมารักษาประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งแล้ว"

ทางด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ออกแถลงการณ์ในกรุงลอนดอนในวันเดียวกันนี้เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยใช้พรก.ฉุกเฉินไปในทางที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ทั้งนี้ นาย เบนจามิน ซาแวคซกี้ นักวิจัยทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า กฎหมายระหว่างประเทศได้ให้หลักประกันเป็นพื้นฐานไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ แม้ในยามที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินก็ตาม

นางสาวกิริฎา เภาพิจิต นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่มีความรุนแรงขึ้นว่า มองว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะสั้นเท่านั้น และยังไม่กระทบต่อการลงทุนระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนจะมองที่ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจมหภาคเองมีหน่วยงานต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว และหากการเมืองไม่กระทบนโยบายก็จะไม่ทำให้เกิดความกังวล แต่ถ้าหากการเมืองส่งผลให้นโยบายเปลี่ยนแปลง เช่นจากเดิมที่ประเทศไทยมีนโยบายเปิดประเทศมาตลอดเพื่อต้อนรับนักลงทุน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นไม่เปิดประเทศก็จะกระทบนักลงทุน
“ปี 2550 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 15 จากทั่วโลกในด้านกฎระเบียบที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนในปีนี้จะมีการประเมินในวันที่ 10 กันยายน ในด้านกฎระเบียบว่าจะอยู่อันดับใด” นางสาวกิริฎากล่าว

ที่มา
มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/
โดยนายศรัณยู บุญประจง ID 5131601500
section 02 สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ไม่มีความคิดเห็น: